นิทรรศการ 50 ปี 50 สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

DSCF8199

ใครที่เคยแวะเวียนไปเที่ยว ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์(มหาอินทร์) ตรงสี่แยกกลางเวียงคงพอจะทราบกันดีนะครับ ว่าที่นี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมให้ได้ศึกษาค้นคว้ากันอีกทั้งยังมีนิทรรศการหมุนเวียนเป็นประจำทุกเดือนมาให้ชมกันเรื่อยๆ อีกด้วย

นิทรรศการส่วนใหญ่ของที่นี้นั้น ก็ตามคอนเซ็ปต์แหละครับ ที่ต้องเกี่ยวกับเรื่องราวของสถาปัตยกรรม โดยครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2557 นี้ก็มี นิทรรศการที่ชื่อว่า 50 ปี 50 สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Exhibition : Project “50th Year : 50 Architectures of Chiang Mai University”) ที่ถูกจัดขึ้นโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องในวาระโอกาสที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะครบ รอบ 50 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งพิธีเปิดนิทรรศการนั้นมีขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2557 ที่ผ่านมานี่เอง

DSCF8200

ในงานนิทรรศการในเปิด มีเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการฯ โดยรองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และนักศึกษาเก่าสัมพันธ์เป็นประธานในพิธี และนางสาวพรพิศ เดชาวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ร่วมพิธีเปิดงานดังกล่าว

ในวันเปิดงานตามจริงแล้ว พื้นที่ที่จัดนิทรรศการ จะมีสองที่ด้วยกันคือบริเวณลานสนามหญ้าของ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์(มหาอินทร์) กับบริเวณชั้นสองของอาคารศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ แต่ในวันที่ผมไปชมนิทรรศการนั้น เหลือให้ชมกันเฉพาะบริเวณชั้นสองของอาคารเท่านั้น คาดว่าบริเวณตรงลานสนามหญ้าคงมีให้ชมเฉพาะวันเปิดงาน

DSCF8191

ในส่วนของผลงานที่จัดแสดงนั้น ทั้งหมดจะออกมาในรูปแบบของภาพถ่ายกัน ซึ่งเป็นภาพถ่ายสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งบางส่วนในเมืองเชียงใหม่ (อย่างคุ้มเจ้าบุรีรัตน์) โดยภาพถ่ายที่สื่อออกมานั้นได้สื่อสารเพื่อให้สังคมได้เห็นมุมมองต่างๆ ที่อาจไม่ได้สนใจ มองผ่านงานออกแบบไปในการใช้ชีวิตประจำวัน ให้หยุดคิดและมองสถาปัตยกรรม เพื่อยกระดับคุณค่าทางจิตใจคนในสังคมให้มีความรักในศิลปะผ่านทางสถาปัตยกรรม ซึ่งบางภาพอาจจะเป็นภาพสามัญที่มองอย่างคุ้นเคยเพียงไม่กี่วินาทีแล้วผ่านไปไม่ได้หยุดพิจารณา บางภาพก็เป็นความงามที่ต้องเปลี่ยนมุมมองจากชีวิตปกติ หรือต้องอาศัยช่วงเวลาของวัน ณ ขณะนั้นจึงเกิดขึ้น

DSCF8193

DSCF8190

ทั้งนี้ ภาพทั้งหมดจะทำตัวเป็นสื่อกลางถ่ายทอดการออกแบบสถาปัตยกรรม ให้กับคนที่เดินผ่านไปมา ได้เข้าใจว่า สถาปัตยกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังสื่อสารกับทุกๆ คน ให้รับรู้ปรากฏการณ์ศิลปะผ่านสถาปัตยกรรมในชีวิตประจำวัน

จะว่าไปแล้ว การมาชมนิทรรศการนี้ ก็ถือเป็นการช่วยให้เราใช้ชีวิตช้าลง และรู้จักใส่ใจกับรายละเอียดรอบข้างของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รู้จักคิด วิเคราะห์กับสิ่งรอบตัว ที่เกิดขึ้น และก็เช่นกันกับการได้ชมสถาปัตยกรรมดีๆ บางทีรูปทรงรูปร่างต่างๆ อาจเปลี่ยนมุมมองในชีวิตเราได้