ข่วงสิงห์

DSCF3337

ในเมืองเชียงใหม่ เราจะเห็นได้ว่ามีหลายสถานที่ด้วยกัน ที่เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ชนรุ่นหลังควรศึกษา

สะพานนวรัฐ กาดหลวง ช่วงประตูท่าแพ เวียงกุมกาม เวียงเจ็ดลิน เหล่านี้หลายคนคงพอจะนึกออก แต่ถ้าเป็น “ข่วงสิงห์” อันนี้น่าจะมีเครื่องหมายคำถามในหัวว่ามีความเป็นมาและมีความสำคัญกันยังไง

“ข่วงสิงห์”  หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “คุ้มสิงห์” เป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าขับรถจากสี่แยกข่วงสิงห์ มุ่งหน้าเดินทางไปตามถนนเชียงใหม่แม่ริม (ถนนโชตนา) ประมาณ 150 เมตรแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนโชตนา ซอย 1 (ข้างโรงเรียนวัดข่วงสิงห์) ไปอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะเจอกับโบราณสถาน “ข่วงสิงห์” ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติไว้

DSCF3333

DSCF3332

“ข่วงสิงห์” เป็นสิ่งก่อสร้างลักษณะรูปสิงห์คู่ ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอายุสมัยของการก่อสร้างข่วงสิงห์นั้น ถูกสร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช 1163 พ.ศ. 2344 ปีระกาตรีศกเดือน 4 เหนือขึ้น 12 ค่ำ พ่อเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์แรก (พ.ศ.2325-2356) ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดให้สร้างสิงห์ปูนปั้นสีขาวยืนขึ้นไว้คู่หนึ่ง ตัวหนึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ อีกตัวหนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ณ ที่อันเป็นบริเวณโล่งเตียนกว้างขวางอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่

DSCF3336

DSCF3339

จากนั้นเมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงทำพิธีอันเชิญ เทพยดาอารักษ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาสิงสถิตย์ อยู่ ณ ที่นี้ ตาม คัมภีร์ลานทองของเมืองเชียงใหม่ เขียนไว้ว่า “พระยากาวิละสร้างรูปสิงห์คู่นี้ไว้เป็นสีหนาทแก่เมือง” คราวใดเมื่อจะยกทัพไปต่อสู้กับข้าศึกที่มารุกราน หรือเพื่อแผ่อานุภาพออกไป ก็ได้ยกทัพมาหยุด ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อกระทำอันเป็นมงคลต่างๆ แก่กองทัพเป็นประจำ ซึ่งต่อมาสถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ข่วงสิงห์ชัยมงคล” และต่อมาได้เรียกชื่อให้สั้นลง ว่า “ข่วงสิงห์” และในสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 7 (พ.ศ.2416-2439) ได้โปรดให้สร้างวัดขึ้นไว้บริเวณใกล้กันหนึ่งวัด คือ “วัดข่วงสิงห์ชัยมงคล” ปัจจุบัน คือ “วัดข่วงสิงห์.”

DSCF0142

ในส่วนของการสร้างประติมากรรมรูปสิงห์นั้น เรื่องนี้มีอิทธิพลในช่วงที่อาณาจักรล้านนาเสียเมืองให้แก่ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกษัตริย์แห่งพม่า เมื่อ พ.ศ. 2101 โดยในช่วงนั้น พระพุทธศาสนา และลัทธิธรรมเนียมพม่า ได้เข้ามามีอิทธิพลในล้านนาไทย กอปรกับชาวล้านนาและชาวพม่าต่างนับถือศาสนาพุทธด้วยอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดความผสมผสานกันทางวัฒนธรรมเป็นอย่างดี โดยสิ่งที่สะท้อนอิทธิพลของพม่าอย่างชัดเจน ได้แก่ การสร้างสิงห์ที่ประตูวัด พิธีฟ้อนผีมดผีเม็ง การบวชลูกแก้ว เป็นต้น

DSCF3337

DSCF3334

จะว่าไปแล้ว “ข่วงสิงห์” คงไม่ต่างจากสถานที่ปลุกขวัญและกำลังใจของกองทัพในสมัยก่อนเวลาทำศึกสงคราม อันเป็นกุศโลบายกลายๆ ให้นักรบได้ฮึกเหิมจนรบกับข้าศึกได้รับชัยชนะสำเร็จ