วัดตำหนักธรรมนิมิตร

DSCF6553_tonemapped_tonemapped

บางทีมาเที่ยววัดก็ได้รู้อะไรที่มันมากกว่าเรื่องราวของวัด โดยมีเรื่องความเป็นมาของคนในท้องถิ่นนั้น ว่าแต่ก่อนในอดีตมีวิถีชีวิตความเป็นมายังไง ดังเช่นเรื่องราวของวัดตำหนักธรรมนิมิตร ที่จะร่ายให้อ่านกันในตอนนี้

DSCF6552_tonemapped_tonemapped

วัดตำหนักธรรมนิมิตร เดิมมีชื่อหลายชื่อ เช่น วัดสันขวางดอนปิน, วัดทุ่งตำหนัก, วัดบ้านอ้อย, สร้างเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2453 โดยที่ตั้งวัดนี้เดิมนั้นเป็นไร่ปลูกข้าวเก่าของนายหนานกันธา มีชาวบ้านที่ร่วมกันบำรุงอุปถัมภ์และทำบุญในครั้งแรกจำนวน 38 หลังคาเรือน โดยอพยพมาจากบ้านอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

บ้านอ้อย เดิมชื่อบ้านน้อย ผู้สร้างอพยพมาประมาณปี พ.ศ.2413 ในการอพยพมาจากบ้านอุโมงค์นั้นมีพ่อเจ้าหนานมหาวงศ์ แม่เจ้าอุษา กาวิละ เป็นหัวหน้านำมาเพื่อเป็นการหาที่อยู่อาศัยและประกอบสัมมาชีพเลยขึ้นมาตามลำน้ำแม่ริมจนมาเจอภูมิประเทศที่พอใจจึงลงหลักปักฐานสร้างเป็นหมู่บ้านเล็กๆใส่ชื่อว่า บ้านหน้อย (หมายถึงบ้านเล็ก ๆ มีไม่กี่หลังคา) โดยทำการปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรและถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็นำลงแพไปขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างอื่น และได้ชักชวนครอบครัวอื่นขึ้นมาอีกโดยบอกว่าพบที่อุดมสมบูรณ์ จนเป็นหมูบ้านที่มีกันประมาณ 30 ครอบครัว

DSCF6551

DSCF6549_tonemapped

คราวเมื่อถึงฤดูกาลน้ำหลาก ปรากฏว่าหมู่บ้านประสพกับเหตุการณ์น้ำท่วมจึงมีมติย้ายหมู่บ้านเข้ามาอีกประมาณ 1 กิโลเมตรคือที่ตั้งบ้านปัจจุบัน ตราบจนเจ้าพ่อชีวิตอ้าวซึ่งเป็นพระเจ้าลุงของพระราชชายาดารารัศมีในรัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชบริพารได้มาประพาสป่าและมาพักที่บ้าน หน้อยหรือบ้านน้อย ประชาชนชาวบ้านทุกหลังคามีความยินดีมากที่เชื้อพระวงศ์เจ้าผู้นครมาพักในหมู่บ้านจึงพร้อมใจกันสร้างตำหนักถวายเพื่อเป็นที่พัก และได้นำเอาอ้อยที่มีอยู่ทั่วไปได้ตัดมาถวายเพื่อเป็นอาหารของช้างที่นำมาประพาสป่าด้วยจนเป็นที่พอใจของพระองค์ จึงได้พูดกับหัวหน้าหมู่บ้านว่าต่อไปนี้ให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านหน้อย มาเป็นบ้านอ้อยตามนามมงคลที่ได้เอาอ้อยถวายประกอบกับมีบ้านอยู่หลายหลังไม่เหมาะสมที่จะชื่อบ้านหน้อยหรือบ้านน้อย ตั้งแต่นั้นมาจึงได้เป็นบ้านอ้อยจนถึงปัจจุบัน

DSCF6543_tonemapped

หลังจากที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านอ้อยแล้วพ่อหนานไชย์ แม่เที่ยงและชาวบ้านจำนวน 38 หลังคาเรือนได้พูดคุยกันว่าสมควรที่หมู่บ้านของเราจะมีวัดเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และทำบุญตามพุทธศาสนิกชนที่ดีทั้งหลาย จึงเห็นสมควรว่าจะสร้างวัดขึ้น ทางคนนำในหมู่บ้านจึงทำพิธีสัจจะอธิษฐานขึ้นว่าสมควรที่จะสร้างวัดตรงไหน โดยทำพิธีเสี่ยงทายแบบโบราณโดยให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในทางที่ดีที่เป็นมงคล เพื่อความก้าวหน้าและเป็นศิริมงคลแก่วัดที่จะสร้างใหม่และหมู่บ้านต่อไปให้มีเหตุการณ์ปรากฏภายใน 3 – 7 วัน

DSCF6547_tonemapped

จากนั้นปรากฏว่าเกิดเหตุที่ชาวบ้านปลื้มปิติยินดีเป็นอันมากที่ตอนกลางคืนได้เห็นแสงที่งดงามมากเท่าดวงจันทร์ลอยลงมาตกที่ไร่ข้าวของนายหนานกันธา ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของหมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันตก อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำอยู่บนดอยที่สามารถเห็นหมู่บ้านได้ทั้งหมด จึงตกลงกันว่าจะสร้างวัดกันตรงนั้นโดยได้ขอที่ตรงนั้นกับเจ้าของไร่ข้าวซึ่งได้ยกที่ตรงนั้นเพื่อสร้างวัดด้วยความยินดี ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 29 กันยายน 2453 และได้ใส่ชื่อวัดว่า วัดตำหนักธรรมนิมิต ตั้งแต่บัดนั้นมาโดยมีเหตุที่ใส่ชื่อดังนี้  คือตำหนัก มาจากที่ชาวบ้านได้สร้างพลับพลาตำหนักถวายแก่พ่อเจ้าชีวิตอ้าว คราเมื่อมาประพาสป่าและมาพักที่บ้านอ้อย

DSCF6546_tonemapped

ส่วนธรรมนิมิต + ร = มิตร มาจากที่ชาวบ้านได้เห็นนิมิตคือแสงที่งดงามที่ลอยมาตกกลางไร่ปลูกข้าว และความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านที่รักกันประดุจญาติมิตรและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสละทรัพย์สมบัติและเวลามาช่วยกันสร้างวัดให้สำเร็จตามอัตภาพและฐานะของชาวบ้านในสมัยนั้น

ถือได้ว่า วัดตำหนักธรรมนิมิตร แม้จะเป็นวัดเล็กๆ แต่เรื่องราวไม่ได้เล็กตามไปด้วยเลย