วัดพระนอน (ขอนม่วง)

DSCF5938

ในเชียงใหม่ถ้าจำไม่ผิด ผมเคยไปเที่ยววัดพระนอนด้วยกันมาแล้วสองที่ ซึ่งสองที่ที่ว่านั้น อยู่ที่ อ.สารภี คือ วัดพระนอนป่าเก็ดถี่ และวัดพระนอนหนองผึ้ง อัตราความประทับใจอยู่ในระดับถือว่าเยี่ยมพอสมควร

ล่าสุดชีพจรลงเท้า มีโอกาสขึ้นมาทางเหนือของเชียงใหม่บ้าง ครานี้ผมพามารู้จักกันกับวัดพระนอน (ขอนม่วง) เป็นวัดเก่าแก่สำคัญแห่งหนึ่งของนครเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

DSCF5944

วัดพระนอน (ขอนม่วง) ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีเพียงตำนานกล่าวถึงการซ่อมแซมในพุทธศตวรรษที่ 24 เมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานประเภทเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันวัดพระนอน (ขอนม่วง) ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร โดยประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาตอนที่ 3 ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2497 และประกาศกำหนดขอบเขตในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 145 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2522

DSCF5943

สิ่งที่น่าสนใจวัดพระนอน (ขอนม่วง) เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์พระนอนขอนม่วง ที่ประดิษฐานภายในวิหาร ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้ากัสสปะและพระเกศาธาตุพร้อมดินพนะเฝ่าเถ้า (อังคารธาตุ) ของพระโคตมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยตำนานพระนอน (ขอนม่วง) และตำนานพระเจ้าเลียบโลกกล่าวว่า

DSCF5942

หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโกนาคมนะปรินิพพานไปแล้ว และมาถึงศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ในคราวครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่เรานี้มีชื่อว่า กุมภมิตตรนคร  พระยาเจ้าเมืองชื่อว่ากุมภมิตตราช ได้เป็นสหายกับพระยาอังครัฐนครและพระยาอังครัฐนครองค์นี้มีต้นมะม้วงต้นหนึ่ง มีลูกอันหวานหอมมากนัก พระยาก็ส่งมะม่วงคำ 8 ลูก ถวายแก่พระยากุมภมิตตราช พระยากุมภมิตตราชก็เสวยมะม่วงคำอันนั้นรู้สึกหวานหอมเป็นกัปปิยะยิ่งนัก เลยเอาแก่น (เมล็ด)ในมะม่วงคำ 8 ลูกนั้นบง (เพาะ)ไว้ แต่ออกเพียงลูกเดียว พระยาก็ให้ปลูกไว้ในสวนอุทยานนั้น เดิมไปด้วยของปลูกลูกไม้ส้มหวานออกลวงมากนัก พระยาก็ตั้งจ่าสวนคนหนึ่งชื่อว่า เสตวกะ ให้อยู่เฝ้าสวน และเสตวกะ จ่าสวนผัวเมียเป็นอันซื่อสัตย์ต่อเจ้าแห่งตน ภายหลังสวนได้เงินเท่าใด ได้คำเท่าใดก็เก็บรวมไว้รวมได้เงิน 4 แสนกับคำ 1 หมื่น จ่าสวนก็บอกกับพระยาฯ จึงมีอาชญาแก่ตนว่า ท่านจงรักษาไว้ให้ดีก่อนเดอะ (เถอะ) ว่าดังนี้ จ่าสวนก็เอาใส่ไห 4 ไห ไหละแสน และเอาคำใส่ไหหนึ่งฝังไว้ในที่ใกล้กับต้นมะม่วง ระหว่างกลางไม้ประดับทองนั้น และถึงเมื่อพระยาจุติไปพบของอันนั้นก็ปรากฏเมื่อภายหลัง จ่าสวนตายก็ได้เกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง ชื่อว่ากุมมารยักษ์ อยู่เฝ้าทรัพย์สมบัติ ข้าวของ และไม้มะม่วงต้นนั้น

อยู่ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ากัสสปเจ้าเมือง เกิดมาตรัสรู้สัพพัญญตญาณ พระพุทธเจ้าก็จะเดินเทศน์โปรดบรรดาสัตว์ มาพักยังร่มไม้มะม่วงดังนั้น กุมมารยักษ์ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าในกาละเมื่อก่อน กุมมารยักษ์ก็ไม่ให้พระพุทธเจ้าพัก พระกัสสปเจ้าเทศนาอมตะธรรม 5 ประการแก่มหายักษ์นั้นแล กุมมารยักษ์ได้ฟังธรรมและรักษาศีล 5 เขี้ยวงาแห่งมหายักษ์ใหญ่ 3 ดำ ขาว 3 ศอกก็หลุดออก พระพุทธเจ้าก็ลูบเอาพระเกศาธาตุเส้น 1 ให้แก่ยักษ์เอาไว้สักการบูชา มหายักษ์ก็เอาพระเกศาธาตุไว้ในก๋วงเขี้ยวงา (โพรงฟัน) บรรจุไว้เหนือไหข้าวของที่ฝังไว้นั้น ก็อยู่รักษาพุทธนันดรกัป 1 ระหว่างพระพุทธเจ้ากัสสปและพระโคตมเจ้าเกิดมาตรัสรู้สัพพัญญุตญาณ ไม้มะม่วงนั้นก็กิ่งก้านหัก เหตุว่าแก่นักสิ้นอายุ ต้นเหนือดินผุพังลงไป

DSCF5939

และในสมัยที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน ก็ยังเกิดโรค ด้วยเหตุได้ฉันเนื้อสุกรอ่อน (บางแห่งว่าเห็ดสุกรอ่อน) ของนายจุนทะ ซึ่งเป็นพิษ พระองค์ยังอุตสาห์จาริกเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ มาถึงไม้มะม่วงคำต้นใหญ่ ที่มีมาแต่สมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะแล้ว แต่ได้ล้มลงเป็นขอนผุพังไปบ้าง พระพุทธองค์เหน็ดเหนื่อย จึงให้พระอานนท์เอาผ้าสังฆาปฏิปูลงที่ขอนไม้ม่วงที่ผุพังนั้น เพื่อจะได้ประทับบรรทม

พญายักษ์ที่รักษาสมบัติอยู่ที่นั้นไม่พอใจขับไล่พระพุทธองค์ให้หนี พระพุทธองค์จึงกระทำปาฏิหาริย์เปล่งรัศมีให้ใหญ่เท่าพระพุทธเจ้ากัสสปะมีแสงสว่างไปทั่ว มหายักษ์จึงรู้ว่าจักเป็นพระพุทธเจ้าจึงก้มลงกราบนมัสการ พระองค์ได้เทศนาธรรม และให้ศีล 5 แก่ยักษ์แล้วพยากรณ์ว่า พญายักษ์จะได้เป็นพญา จะได้ยกยอพุทธศาสนาต่อไปภายหน้า จึงประทานเกศาธาตุให้ 1 องค์ มหายักษ์รับพระเกศาธาตุ แล้วเขี้ยวงาที่เหลืออีกข้างหนึ่งก็หลุดร่วงหล่นออก แล้วเอาพระเกศาธาตุใส่ไว้ในกลางเขี้ยวงาตนฝังไว้เหนือสมบัติและพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้ากัสสปะที่พระองค์ประทานให้ในพุทธันดรก่อน แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จต่อไปที่ดอยคำ (พระธาตุดอยคำ ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่)

ในขณะที่พระองค์สถิตสำราญอยู่ที่ขอนม่วง พระองค์รู้สึกร้อนกระหายน้ำยิ่งนัก จึงให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาถวาย พระอานนท์ก็ถือเอาบาตรไปสู่แม่น้ำ ขณะนั้นพ่อค้าเกวียนผ่านมา ให้วัวควายลงกินน้ำทำให้น้ำขุ่น ยังมีหมู 2 ตัว ได้ช่วยขุดคุ้ยทำเป็นบ่อน้ำ พระอานนท์ก็เอาฝาบาตรวิดน้ำขุดออก ยังไม่ทันใสดีก็กลัวพระพุทธเจ้าจะคอยนาน จึงรีบตักน้ำมาถวายพระองค์ก็ฉันทังซะทังเหยือง (คงหมายความว่าแม้น้ำไม่ค่อยสะอาดก็ฉันจนหมด) จังปรากฏได้ชื่อว่า “แม่ชะเหยือง” แลฯ

DSCF5941

พระพุทธองค์ทำนายว่า เมื่อตถาคตนิพพานไปแล้วได้ 800 ปี อรหันต์ทั้งหลายจักเอาดินพนะเฝ่าเถ้าตถาคต มาจุไว้เป็นที่ไหว้บูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย เมื่อศาสนาตถาคตล่วงได้ 2 พันกว่าปี เทวสุกกโร คือหมู 2 ตัว จักได้เกิดเป็นพญาอยุทธิยาหล้าน้ำ มหายักษ์ก็จะได้เกิดเป็นพญาเมืองนี้อีก จักมีพี่น้อง 7 ชาย จะได้เป็นไมตรีรักใคร่ชอบพอกันกับพญาเมืองหล้าน้ำ มหายักษ์เป็นพญามีตะบะเดชะมาก ปราบข้าศึกศัตรูไปถึงแคว้นฮ่อได้เป็นพญาเจ้าเมืองกุรุรัฐ แล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง “อินตาสังเกต” ด้วยเหตุที่พระอินทร์มานิมิตให้พญาเมืองนำเอาพระเกศาธาตุและสมบัติออกจากใต้ขอนไม้ม่วงคำ แล้วสร้างพระพุทธรูปเจ้านอนตามรอยขอนม่วงที่พังนั้น บรรจุพระเกศาธาตุและดินพนะเฝ่าเถ้าพระพุทธเจ้า ไว้เป็นที่ไหว้บูชา ปรากฏชื่อว่า “พระนอนพัง”  และอีกชื่อหนึ่งว่า “พระนอนแม่จ๊ะเหยือง” กาลต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พระนอนขอนม่วง” มาจนกระทั่งบัดนี้

DSCF5940

จากพระตำนานธรรมของวัดพระนอนขอนม่วง เรียกพระพุทธรูปในวัดนี้ว่า “พระนอนพรัง” ตามตำนานกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาไสยาสน์ (นอน) บนขอนไม้มะม่วง เนื่องจากวัดตั้งอยู่ใกล้ห้วยแม่ชะเยือง ชาวบ้านจึงเรียกว่า พระนอนแม่ชะเยือง เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2406 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) ได้บูรณปฏิสังขรณ์ วิหาร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระนอน (ขอนม่วง) ต่อมาพ.ศ. 2416 เจ้าอินทวโรรสและราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นประธานในการสร้างพระบถถวาย (ผ้าที่ปักเป็นรูปพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอัครสาวกทั้งสองคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถระ) และพ.ศ. 2470 ครูบาศรีวิชัยได้เป็นประธาน ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระนอนและพระธาตุ พร้อมทั้งสร้างวิหารขึ้นหนึ่งหลัง ซึ่งนับเป็นวิหารหลังที่แปด อันเป็นที่ประดิษฐานพระนอน

ทั้งนี้ ในแต่ละปี จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระนอน ซึ่งเหล่าพุทธศาสนิกชนจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะ นำน้ำอบน้ำหอมน้ำขมิ้นส้มป่อยไปสรงน้ำพระนอนและพระบรมธาตุเป็นจำนวนมาก ด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระนอนขอนม่วง