บางเรื่องที่น่าสนใจในคุ้มเจ้าบุรีรัตน์

DSCF8209

จำไม่ผิดว่าครั้งแรกที่มาเที่ยวคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ผมมาเยี่ยมชมเฉพาะในเรื่องสถาปัตยกรรมล้วนๆ ของตัวอาคาร ซึ่งเป็นเมนูหลักของที่นี้ ให้หลังจากนั้นผมก็มาแวะเวียนไปหลายที เพราะมีนิทรรศการหมุนเวียนให้ได้เยี่ยมชม แต่ล่าสุดมาสังเกตว่านอกจากในคุ้มเจ้าบุรีรัตน์จะเด่นในเรื่องของงานสถาปัตยกรรมแล้ว รอบๆ อาคารยังมีเรื่องให้น่าสนใจได้ศึกษา ถึงขั้นที่ผมต้องเอามาบอกกล่าวกันในนี้

เรื่องที่จะพูดถึงดังกล่าว จริงๆ แล้วมันเป็นแผนที่สื่อความหมายเพื่อการเรียนรู้ภายในศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (ที่น้อยคนนักจะเดินดู เท่าที่เห็นมีแค่ดูเฉพาะตัวอาคาร) ซึ่งจะเริ่มจากประตูทางเข้ามุ่งเข้าสู่ตัวอาคารและอ้อมไปบริเวณด้านหลังเป็นอันจบ

ในที่นี้ผมจะขอเล่าในส่วนที่น่าสนใจในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งก็จะมีกันดังต่อไปนี้

DSCF8221

แรกเริ่มตรงบริเวณเข้า เป็นกำแพงที่ก่อด้วยอิฐ โดยส่วนใหญ่แล้ว การกั้นขอบเขตพื้นที่ด้วยกำแพง ใช้เฉพาะสถานที่สำคัญของเมือง เช่น วัดและเวียง หรือคุ้มเท่านั้น บ้านสามัญชนไม่สามารถทำเครื่องล้อมแบบเจ้านายได้ เพราะถือว่าไม่สมควรต่อตน กำแพงคุ้มเจ้าบุรีรัตน์แห่งนี้ ถือเป็นเครื่องล้อมที่แสดงถึงความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ทางด้านฐานันดร เกียรติยศ และความสำคัญของเจ้า ผู้เป็นของที่สมควรได้รับการปกป้อง

DSCF8210

จากประตูเดินเข้ามาแล้วเลี้ยวซ้าย จะมีบ่อน้ำ ที่ตำแหน่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงของอาคาร ตามความเชื่อของล้านนา ที่เชื่อว่ามีความเป็นมงคลต่อเจ้าของ เนื่องจากทำให้มีโชคลาภและชื่อเสียง

DSCF8201

บ่อน้ำโบราณภายในคุ้มเจ้าบุรีรัตน์มีจำนวน 2 บ่อด้วยกัน คือบริเวณด้านหน้าอาคาร ซึ่งในอดีตสันนิษฐานว่าใช้สำหรับบริโภค ดื่ม กิน ทำอาหาร สำหรับเจ้านายผู้เป็นเจ้าบ้าน มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนอีกบ่ออยู่บริเวณด้านหลังใช้สำหรับอุปโภค ของผู้อยู่อาศัย คนใช้และทาส อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำใช้เพื่อชำระร่างกาย

DSCF8216

อ้อมมาบริเวณด้านหลังของคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ จะมีโรงครัว ที่แยกตัวออกมาจากตัวอาคารคุ้ม เพื่อป้องกันอันตรายและสิ่งรบกวนต่างๆ อัคคีภัย กลิ่น เสียง ความสกปรก เป็นต้น ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงขนาดใหญ่ผิดปกติจากโรงครัวอื่นๆ ในอดีตใช้เป็นสถานที่จัดเตรียมอาหาร เครื่องคาวหวาน ปัจจุบันโรงครัวได้ถูกปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยเป็นห้องนิทรรศการ โดยจัดแสดงเกี่ยวกับวัสดุ เครื่องมือที่สำคัญในการสร้างบ้าน และเป็น “หน่วยสล่าเฮือน” ซึ่งเป็นการบริการ วิชาการให้คำปรึกษาเรื่องบ้านโดยคณาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

DSCF8217

DSCF8218

ตบท้ายด้วยปั้มโยกน้ำโบราณหน้าโรงครัว หนึ่งในโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจากต่างประเทศชิ้นหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าใช้สำหรับการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ เพื่อการอุปโภคและบริโภคภายในคุ้ม ปัจจุบันปั้มโยกน้ำอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้

DSCF8212

เป็นอันว่าเสร็จสิ้นครบถ้วนกระบวนความกันนะครับ สำหรับเรื่องราวที่น่าสนใจรอบๆ ภายในคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ใครไปเที่ยวชมอยากเจอของจริง ก็สามารถแวะไปทุกวันเวลาครับ