ภาพนี้ไม่เกี่ยวกับกระเช้าลอยฟ้าเชียงใหม่ ใช้แค่ประกอบเรื่อง
จริงๆ แล้วเรื่องกระเช้าลอยฟ้านี้ ทางสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ได้เปิดตัวโครงการศึกษากระเช้าลอยฟ้าเส้นทาง ไนท์ซาฟารี-ดอยปุย ไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าข่าวจะผ่านมาเกือบเดือน แต่ผมก็ยังอยากจะหยิบมาเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว
กล่าวก็คือ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร เปิดตัวโครงการศึกษาสำรวจและออกแบบกระเช้าลอยฟ้า (Cable Car) เชื่อมโยงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ดอยปุย ดอยผาดำ ใจความสำคัญหลักๆ ก็คือแจงขั้นตอนการศึกษา 10 เดือน ออกแบบเส้นทางกระเช้าลอยฟ้าผ่านป่า 10 กม. จากเส้นทางดังกล่าวซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลสุเทพ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลบ้านปง และตำบลหนองควาย อำเภอหางดง
กระบวนการขั้นตอนหลักๆ ก็จะประกอบด้วยกระบวนการการศึกษา รวบรวม และทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ลักษณะรูปแบบโครงการที่คล้ายคลึงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลพื้นฐานโครงการและพื้นที่โดยรอบทั้งด้านกายภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยที่จะมีผลหรือได้รับผลจากโครงการทั้งทางบวกและลบ
จากนั้นจะเป็นการกำหนดรูปแบบแนวทางเลือกที่เหมาะสม ด้วยเกณฑ์พิจารณา ดังต่อไปนี้ ด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการลงทุน การมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งศึกษาวิเคราะห์ด้านการเงิน และการลงทุน รวมทั้งโครงการด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางเลือกและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้กระบวนการศึกษายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการ ฉะนั้นนี้จึงเป็นแค่การร่างแผนคร่าวๆ กันไปก่อน
หลังจากเสร็จสิ้นการเปิดตัวโครงการ หลายฝ่ายต่างก็ออกมาเสนอความเห็นกันหลากหลายมุมมองดังนี้
อย่าง รศ.ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกไว้ทำนองว่าโครงการไม่คุ้มทุนแถมยังซ้ำรอยโครงการขนาดใหญ่ในเชียงใหม่ก่อนหน้านี้ พร้อมแนะต้องแบไต๋ข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนศึกษา
ฟากทางฝั่งของชุมชนรอบโครงการ ก็ยังกังขาในข้อมูลและพร้อมจะคัดค้านให้ถึงที่สุด ก็ขนาดชาวบ้านแถวนั้นยังเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่ได้ แล้วจะมีการสร้างกระเช้าลอยฟ้าได้อย่างไร
ส่วนภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่ก็จวกพิงนคร ว่าเป็นองค์กรข้ามหัวท้องถิ่น และการเกิดขึ้นของพิงคนครเป็นการเกิดขึ้นโดยใช้อำนาจของรัฐบาล ทั้งนี้องค์กรที่เกิดขึ้นควรจะเกิดจากท้องถิ่นอย่างแท้จริง การกำหนดสิ่งต่างๆ แล้วไม่สอบถามความคิดเห็นของประชาชน อันนี้คัดค้านแน่
สำหรับผม มองแบบสายตาของคนท่องเที่ยว เส้นทางดังกล่าวถ้าให้นับนิ้วกันจริงๆ ถึงสิ่งน่าดึงดูดใจก็ต้องบอกว่า ยังไม่มากพอ ถ้าน่าสนใจสุดคงเป็นจุดสตาร์ทกับปลายทาง ส่วนที่เหลือแทบจะไม่มีห่านอะไร และยิ่งพอคำนวณถึงระยะทาง 10 กม. เหอะๆ ไม่ต้องบอกนะครับว่าคนนั่งกระเช้าจะทำหน้าซังกะตายขนาดไหน
ตามสูตรของกระเช้าลอยฟ้าเชิงท่องเที่ยวมันต้องสั้นในระยะทาง และมีสถานที่หลายอย่างกระชากใจคนดู ในระดับที่พวกเขาควักเงินแล้วไม่เสียดายตังค์ ฉะนั้นถึงตรงนี้คิดคำนวณเล่นๆ ผลเสียน่าจะมีกว่าผลดีที่ตอบรับ และนี่ขนาดยังไม่ได้พูดถึงผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมนะ คือถ้าเอาเรื่องนี้มาประกอบผลในการพิจารณาข้อดีและเสียด้วย โอกาสล่มของโครงการรับรองว่ามีสูง
ประเทศไทยมีกระเช้าลอยฟ้า 1 แห่ง ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ความยาว 525 เมตร โดยใช้งบประมาณ 170,600,000 บาท.แล้วถ้ามันเกิดขึ้นที่เชียงใหม่ล่ะ มันจะหมดเงินกันกี่ล้าน
คำนวณให้ปวดกบาลเล่นๆ โดยยึดถือเอางบดังกล่าวเป็นตัวตั้ง เม็ดเงินที่จะหมดไปจะอยู่ที่ประมาณ 3,412,000,000 บาท
อืม เงินขนาดนี้ไม่รู้ว่าชาติหน้าตอนบ่ายๆ จะหาให้คุ้มทุนหมดหรือไม่ แต่ถ้าเงินดังกล่าวจะเจียดไปพัฒนาการท่องเที่ยวอะไรอย่างอื่นๆ ซัก 10 เปอร์เซ็นต์ ผมว่าคงมีประโยชน์กันมากกว่าทำกระเช้าลอยฟ้าแน่ๆ
อ่อ อีกอย่าง เส้นทางดังกล่าวที่จะทำกระเช้าลอยฟ้า ผมว่าขับรถเที่ยวเอามีความสุขกว่าตั้งเยอะ แถมประหยัดอีกต่างหาก
เครดิตภาพและข้อมูลบางส่วน http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n1_26112013_01