
หลังๆ มานี้ รู้สึกว่าตัวเองมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ บ่อยขึ้น
อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่ามันมีนิทรรศการหมุนเวียนมาจัดแสดงกันทุกเดือน ซึ่งในแง่ของความตื่นเต้น ก็ย่อมเป็นที่ดึงดูดใจเป็นธรรมดา
ที่หอศิลป์ มช. ในเดือนมิถุนายน 2557 เดือนที่ย่างเข้าสู่หน้าฝนอันเปลี่ยนผันไปตามฤดูกาล เช่นเดียวกันกับนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดแสดง โดยในเดือนนี้ถึงคิวผลงานศิลปนิพนธ์ ของนักศึกษาปริญญาตรีปีสุดท้าย สาขาทัศนศิลป์มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กับชื่อนิทรรศการ “ร่อง รอย ชีวิต” ทีเริ่มกันไปเมื่อวันพุธ ที่ 4 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ณ ห้องแสดงงานชั้น 1 ด้านหน้า หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นิทรรศการ “ร่อง รอย ชีวิต” ถูกถ่ายทอดจากนักศึกษาจำนวนกว่า 17 คน โดยการนำเอาประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ที่มีทั้งเรื่องของความสุข และความทุกข์ที่ทุกคนได้เรียนรู้ และเลือกที่จะจดจำเหตุการณ์ที่แตกต่างกันออกไป บอกผ่านเป็นเรื่องราวทางผลงานศิลปะด้วยเทคนิค และความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
โดยผลงานที่น่าสนใจ ก็ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อความศรัทธาในศาสนาของ สราวุฒิ โต๊ะกาหลี ผลงานชุดการดิ้นรนสู่สัจธรรม เปรียบเสมือนมนุษย์ ควรตระหนักที่จะแสวงหาความดี ในโลกปัจจุบันก่อนที่จะพบเจอกับความตาย เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนต่อไปในโลกหน้าตามความเชื่อในหลักศาสนาอิสลาม
อาฟีณีย์ เจ๊ะดาโอ๊ะ สะท้อนอาชีพช่างเย็บผ้าของมารดาผู้ให้กำเนิดด้วยความรัก ความผูกพันถักทอเป็นสายใยแห่งชีวิต พฤตินันทร์ ดำนิ่ม ผลงานสะท้อนถึงความผูกพันของผู้เลี้ยงดู ความกังวลกับสภาวะร่างกายจากบุคคลอันเป็นที่รักที่เริ่มร่วงโรย จากจิตใต้สำนึกของความห่วงใยก่อเกิดเป็นผลงานจิตรกรรมวัสดดุผสมที่ผสมผสานเทคนิคกับเรื่องราวได้อย่างลง
ลลิตา ไชยแก้ว ใช้ยางพารามาสะท้อนเป็นผลงานชุดความประทับใจในวิถีชีวิตของครอบครัว จากการรับรู้ถึงความเหนื่อยยากของผู้ให้กำเนิด ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้เป็นลูกที่รับรู้ถึงความเหนื่อยยากในการทำงานหนักของผู้ให้กำเนิด
การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก บิดาผู้นำของครอบครัวผู้ซึ่งอยู่ในดวงใจของผู้เป็นลูก แม้ตัวท่านจะจากโลกนี้ไปแล้วแต่สายใยแห่งความรักความผูกพันยังคงอยู่กับผู้เป็นลูกมิเสื่อมคลาย สะท้อนความรู้สึกผ่านผลงานชุดสัญลักษณ์บันทึกความทรงจำของ สูรีนา เจ๊ะมะ
ความรู้สึกที่ผู้เป็นบุตรได้รับจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก นอกเหนือจากการสูญเสียชีวิตของบิดาหรือมารดาแล้วนั้น การแยกทางของบิดามารดาก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เป็นลูกเกิดความรู้สึกที่สะเทือนใจเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน ชนิกา สุขสถาน จึงได้สร้างสรรค์ผลงานชุดความสะเทือนใจจากครอบครัว การแต่งงานคือสิ่งที่ละเอียดอ่อน ความปรารถนาในชีวิตคู่ ความคาดหวังในคู่ครองที่ดี ซึ่งสังคมในปัจจุบันเสื่อมลงทุกวันจนบางครั้งผู้หญิงก็ต้องกลายเป็นผู้นำครอบครัว
กามีละ อิละละ ได้นำสัญลักษณ์รูปทรงของเจ้าสาวแทนค่าความรู้สึกของผู้หญิงออกมานำเสนอ ความรู้สึกสะท้อนใจกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลงานชุดภาพสะท้อนร่องรอยของการสูญเสียของ ปาตีเมาะ จารง ที่ได้พบเจอกับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ สภาวะของบุคคลที่มีความยากลำบาก หวาดระแวง โดดเดี่ยว อ้างว้างและเงียบเหงาก่อเกิดอารมณ์สะท้อนใจนำมาถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะ
อันวา ฮาแว ได้สะท้อนความงามในความมืดโดยแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ได้รับจากประสบการณ์ในเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้ไปครอบงำปกคลุมความดีความงาม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ผ่านผลงานศิลปะโดยแสดงความงามผ่านอักษรอาหรับ
ชญานนท์ คชเดช เป็นอีกคนที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเหตุการณ์ความไม่สงบในเมืองปัตตานี ซึ่งได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยใช้รูปทรงที่ไม่เป็นมิตร แทนค่าสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความกลัว นำเสนอด้วยผลงานที่ดูสนุก แต่แฝงไปด้วยความรู้สึกหวาดกลัวต่อสถานการณ์ของผู้คนในพื้นที่
นั่นเป็นผลงานบางส่วนที่ถูกหยิบยกเอามาเล่าให้ฟัง สำหรับใครี่สนใจอยากดูกันเต็มๆ แบบไม่มียั้ง แวะกันไปได้เลยที่ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ไม่แน่ บางทีชมงานศิลปะเสร็จแล้ว อาจได้ข้อคิดดีๆ กลับไปคิดต่อยอดในการใช้ชีวิตให้มีความสุข และรับมีกับความทุกข์ได้อย่างไม่มีปัญหา