วัดต้นตาลโตน

DSCF4649

พากันขับรถเข้ามาในซอกหลืบปากทางเข้ากาดวรุณ เพื่อมาทำความรู้จักกันกับ “วัดต้นตาลโตน”

วัดต้นตาลโตน สร้างขึ้นมาประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว ครานั้น พ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย พ่อขุนเม็งราย แห่งนครเชียงใหม่ พ่อขุนงำเมือง แห่งเมืองพะเยา ได้ช่วยกันสร้างนครเชียงใหม่ขึ้น และพระเมืองแก้วแห่งราชวงศ์เม็งราย ได้เคยมาบูรณะวัดนี้ครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2065

DSCF4661

วัดแห่งนี้เคยมีความรุ่งเรืองมาก่อน และมีเนื้อที่บริเวณประมาณ 50-60 ไร่ มีวิหารอยู่ด้านทิศเหนือ มีกุฎิทางทิศตะวันตกของบ่อน้ำ ส่วนสาเหตุที่วัดแห่งนี้ร้างไปนั้น เพราะว่าเมื่อ 200 ปีก่อนได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ จึงได้ย้ายวัดไปอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างออกไป 3 ก.ม. ซึ่งก็คือวัดป่าแดดในปัจจุบัน

DSCF4656

จากนั้นในปี พ.ศ. 2523 ได้มีพระธุดงค์คาเจอสถานที่แห่งนี้คือ พระอาจารย์พงษ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นน้องชายของหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ สำนักวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี โดยท่านได้มานั่งสมาธิภาวนาปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ซึ่งเป็นป่าไผ่มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ และเห็นว่าเป็นสถานที่วิเวก สงบ ห่างไกลจากกลุ่มหมู่บ้าน จึงได้ปัดกวาดปฏิบัติธรรมอยู่

DSCF4660

DSCF4654

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง เมื่อได้เห็นพระธุดงค์มาปักกลดก็พากันมาทำบุญ และได้มาเห็นข้อวัตรปฏิบัติของพระธุดงค์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็เกิดความเลื่อมใส ศรัทธา บ้างก็ขอให้สอนพระธรรมและนิมนต์ให้จำพรรษา ณ ที่นี้ โดยได้สร้างเสนาสนะ มีกุฏิ ห้องน้ำ ห้องสุขา จากนั้นต่อมาญาติโยมมาทำบุญกันมากขึ้น จึงได้สร้างศาลาอีก 1 หลัง สำหรับสวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติธรรม ให้ชื่อว่า ศาลายิ้ม และภายหลังมาก็ได้สร้างวิหาร และโรงครัวเพื่อรองรับญาติโยม

DSCF4651

ต่อมาหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ได้เมตตารับไว้ในอุปการะเป็น สาขาที่ 9 ของวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี จึงได้ส่งสมภารและพระลูกวัดมาอยู่จำพรรษา มิได้ขาดแคลนตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในขณะนี้มีอุบาสก อุบาสิกา มาทำบุญ ถือศีลกันเป็นประจำทุกวันพระตลอดทั้งปี

DSCF4646

DSCF4655

หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ได้เป็นผู้ตั้งชื่อว่า “สำนักอันธวันฯ” ในความหมาย คือ ป่าที่มืด สงบ ใครที่มาสัมผัสจะได้รับความร่มรื่นสบาย ซึ่งเหมาะสมกับเป็นวัดปฏิบัติธรรม อันเป็นมงคลนาม และจะเป็นวัดปฏิบัติธรรมอันรุ่งเรืองไปในอนาคต ตามความตั้งใจของหลวงพ่อสนอง ที่อยากให้วัดนี้เป็นศูนย์กลางปฎิบัติธรรมของภาคเหนือ โดยปัจจุบันได้ตั้งชื่อว่า “วัดต้นตาลโตน”

และทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องราวของวัดเคยร้างเล็กๆ ที่เรื่องราวไม่ได้เล็กตาม แต่กลับยิ่งใหญ่ในคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งในทางพุทธศานาของชาวบ้านแถวนี้