บางทีโรงเรียนกับวัดก็มักจะแยกกันไม่ออก
สังเกตกันมาหลายที่แล้วในเชียงใหม่ ที่วัดส่วนใหญ่ในสมัยอดีตเคยเป็นแหล่งศึกษาเล่าเรียนของชาวบ้านในชุมชนในเชิงวิชาการ แถมพ่วงด้วยการศึกษาทางธรรมะ
ร่องรอยที่บ่งบอกให้เห็นถึงเรื่องดังกล่าว คือการพึ่งพาอาศัยกันของสองสถาบันสำคัญในชุมชน โรงเรียนขอใช้พื้นที่วัด วัดขอใช้พื้นที่โรงเรียน เรียกได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกันสัมพันธ์มาโดยตลอด (บางแห่งแม้ไม่ได้อยู่ในกรณีนี้ แต่ก็มีให้เห็นเค้าลาง อย่างการตั้งวัดกับโรงเรียนอยู่ใกล้ๆ กัน)
กรณีวัดท่าหลุก กับ โรงเรียนบ้านท่าหลุกสันทราย คือ หนึ่งตัวอย่างที่กำลังจะอ้างถึง
เท้าความกันตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ก่อนโรงเรียนบ้านท่าหลุกสันทราย เดิมชื่อ “โรงเรียนวัดท่าหลุก” ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2481 ตั้งอยู่ในวัดท่าหลุก หมู่ที่ 7 บ้านท่าหลุก ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยอาศัยศาลาบาตรของวัดเป็นที่เรียนหนังสือ โดยมีขุนไตรกิติยานุกุล ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ทำพิธีเปิด และได้ให้ นายบุญยืน ดวงสิงห์ เป็นครูใหญ่ ทำการเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 4 มีครูมาสอนอีก 2 คน และมีนักเรียนที่มีอายุ ตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ ไม่เกิน 15 ปีเกณฑ์เข้าเรียนอีก 56 คน
ในปี พ.ศ. 2482 ทางราชการได้แต่งตั้ง นายทอง ไชยวงศ์ มาเป็นครูใหญ่แทน ต่อมาศาลาบาตร ที่ให้เป็นอาคารเรียนได้ชำรุดทรุดโทรมลง ราษฎรในหมู่บ้านท่าหลุกสันทราย ได้ช่วยกันสร้างอาคารเรียนชั้นเดียวหลังใหม่แทนศาลาบาตร ใช้ชื่อ อาคารเรียน “ราษฎร์สามัคคี” และนายทรงศักดิ์ สุทธปรีดา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้นได้มาเป็นประธานประกอบพิธีเปิดป้ายนามอาคารเรียนดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2506 ในปีเดียวกัน ทางราชการได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นางทองสุข วิชัยวงศ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน
ในปี พ.ศ. 2513 นางทองสุข วิชัยวงศ์ ครูใหญ่และคณะกรรมการศึกษาโรงเรียน เห็นว่า พื้นที่ของโรงเรียนที่อยู่ในวัดท่าหลุก คับแคบไม่สามารถขยาย และไม่เอื้อต่อการจัด การเรียนการสอน จึงได้ขออนุมัติต่อสภาตำบลสันผีเสื้อ ขอพื้นที่สุสานบ้านสันทรายซึ่งอยู่ติดกับสุสานบ้านท่าหลุก ทางทิศใต้ มีพื้นที่จำนวนประมาณ 3 ไร่เศษ เพื่อขอให้เป็นสถานที่ของโรงเรียนก่อน ในปี พ.ศ. 2514 นางทองสุข วิชัยวงศ์ ครูใหญ่และคณะกรรมการศึกษาโรงเรียน ได้ขอซื้อที่นาของนายจันทร์ สมชัย เพิ่มเติมอีกประมาณ 2 ไร่เศษ รวมเป็นเนื้อที่ของโรงเรียนในปัจจุบันนี้ทั้งหมด 5 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา
จากข้อมูลที่อ้างมา แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาชุมชนได้อาศัยวัดเป็นที่เล่าเรียนของชาวบ้านในนามโรงเรียน หรือพูดง่ายๆ ก็คือวัดกับโรงเรียนถูกกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
นึกกลับมาถึงยุคปัจจุบัน ความห่างเหินระหว่างวัดกับโรงเรียนมีให้เห็นน้อยลงกันไปตามกาลเวลา และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่ทั้งหมดทั้งมวลเรื่องความใกล้ชิดวัดกับโรงเรียนนั้น คงไม่น่าจะสลักสำคัญเท่ากับการปลูกฝังคุณธรรมให้กับคนที่ได้วิชาทั้งทางโลกและทางธรรม
โดยไม่ต้องไปสนว่าวัดกับโรงเรียนจะอยู่ใกล้หรือไกลกันก็ตามทีเถิด