วัดนันทาราม 1 ใน 8 แห่งพระอารามหลวง ที่เจริญรุ่งเรืองและมีความสำคัญ โดยชาวเชียงใหม่มีความเชื่อว่าเป็นที่ไว้เกศาธาตุ 8 แห่งของพระพุทธองค์
วัดนันทาราม สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นหลังจากนครเชียงใหม่สร้างขึ้นมาแล้ว และคงจะสร้างขึ้นก่อนการสร้างกำแพงเวียงชั้นนอก วัดนันทารามแต่เดิมเรียกว่า “บ้านเขิน” ในเขตตำบลหายยา มีกำแพงสองชั้นล้อมรอบเขตวัด ชั้นในเรียกว่า เขตพุทธาวาส หรือ “ข่วงแก้วทั้งสาม” ซึ่ง มีองค์พระเจดีย์ พระวิหาร อุโบสถ ศาลาบำเพ็ญบุญ หอไตร ตั้งอยู่บริเวณด้านใน ส่วนชั้นนอกนั้นเดิมเรียกว่า เขตสังฆาวาส อันมีกุฏิสำหรับพระภิกษุอยู่ คือ กุฏิเหนือและกุฏิใต้ ปัจจุบันกุฏิเหนือได้ร้างไปแล้ว ส่วนกุฏิใต้นั้นก็ได้ย้ายมาตั้งทางด้านทิศตะวันออกของกุฏิเดิมอีกประมาณ 10 เมตร เรียกว่า “กุฏิต่ำ” หรือภาษาเมืองล้านนาเรียกว่า “โฮงต่ำ”
ภายในวัดแห่งนี้ มีศาสนสถานหลายอย่างที่สำคัญ ซึ่งก็ประกอบไปด้วย พระบรมธาตุเจ้าเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ โดยปี พ.ศ.2062 พระเจ้าปนัดดาธิราชฯ ทรงให้สร้างพระเจดีย์องค์ สูง 30 ศอก กว้าง 20 ศอกครึ่งครอบพระเจดีย์องค์เดิมซึ่งสูงเพียง 3 ศอก และพระองค์ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระภิกษุชาวลังกาไว้ที่บนคอระฆัง จากนั้นในปี พ.ศ.2504 ได้ทำการยกฉัตร ปิดทองใหม่พระธาตุ และหล่อฉัตรจัตุรมุข ทั้ง 4 ด้าน ก่อนปี พ.ศ. 2527 จะหุ้มแผ่นทองเหลืองรอบองค์พระเจดีย์พร้อมทั้งลงรักปิดทอง และสร้างรั้วเหล็กรอบองค์พระเจดีย์ มีรางเหล็กไว้เพื่อจุดเทียนรอบองค์พระเจดีย์ ส่วนการบูรณะพระเจดีย์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542
อนึ่ง เมื่อถึงกำหนดวันเดือนเป็ง เดือน 6 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ทางวัดจะจัดให้มีงานประเพณีสรงน้ำพระ และองค์พระเจดีย์ขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องกันมาแต่โบราณ ตราบจนทุกวันนี้
พระเพชรหรือหลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดนันทาราม มีอายุ 500 กว่าปี มีขนาดหน้าตักกว้าง 25 นิ้วครึ่ง สูง 45 นิ้ว หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขัดเงา โดยพุทธลักษณะของพระเพชรจัดอยู่ในชุด พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1 คือ มีพุทธลักษณะอวบอ้วน ขัดสมาธิเพชร พระพักตร์ป้อมสั้น อ่อนโยน รัศมีรูปดอกบัวตูม นิ้วพระหัตถ์ยาวเรียว ถือเป็นศิลปกรรมแบบลังกาวงศ์ หรือสิงห์ 1
พระพุทธไสยาสน์โบราณองค์ใหญ่ หรือพระนอน ยังไม่พบหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่มีความสวยงามยิ่งนัก โดยจะหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรไปหาองค์พระเจดีย์ มีวิหารครอบอย่างถาวร
พระวิหาร เป็นรูปแบบศิลปกรรมแบบล้านนาไทยโดยแท้ สร้างขึ้นแล้วบูรณะซ่อมแซมสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2405 ในสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ โดยทำการปั้นรูปพระยาครุฑ บิดแขวนโอบรอบอกพระยานาค 2 ตัว ข้างบันไดซ้าย-ขวา อันเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ถือเป็นศิลปกรรมอันงดงามที่ไม่ซ้ำกับแบบวัดอื่นๆ ในเมืองเชียงใหม่
พระอุโบสถ มีลักษณะทรงล้านนา โดยในปี พ.ศ. 2511พระอธิการอิ่นแก้ว ได้ทำการรื้ออุโบสถหลังเดิม และทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยไว้รูปทรงแบบเดิม ก่อนจะทำการทำบุญฉลองเมื่อวันจันทร์ที่ 16-22 มีนาคม พ.ศ.2513 หลังจากนั้น เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ทำการปฏิสังขรณ์ในส่วนที่ชำรุด และปรับภูมิทัศน์บริเวณรอบพระอุโบสถ และได้ทำการถวายไว้ในพระพุทธศาสนาในปี พ.ศ.2549
หอธรรม หรือ หอไตรปิฎก หลังเดิมนั้นสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระธรรมกิตติ อดีตเจ้าอาวาสวัดนันทาราม ต่อมาปี พ.ศ. 2514 พระอธิการอิ่นแก้ว ได้สร้างศาลาบาตรรวมหอธรรมหรือหอไตร ออกแบบถาวร รูปแบบศิลปกรรมแบบผสม แล้วได้ทำบุญฉลองสมโภช ส่วนหอธรรมหลังใหม่ ซึ่งได้สร้างแทนหอธรรมหลังเดิมนั้น ตั้งอยู่บริเวณหลังพระวิหารทางด้านทิศเหนือ ในลักษณะทรงล้านนาประยุกต์ สีขาว มีลักษณะเด่นสวยงาม โดยสร้างแล้วเสร็จถวายไว้เมื่อปี พ.ศ.2547
ซุ้มประตูโขง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 ลักษณะเป็นการอนุรักษ์ประตูโขงของเดิมได้
รูปปั้นพระญาณคัมภีระ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2521 โดยพระอธิการอิ่นแก้ว ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระญาณคัมภีระ ที่ทรงมีบทบาทอันสำคัญยิ่งต่อวงการคณะสงฆ์ของล้านนาไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ด้านข้างของอุโบสถ วัดนันทาราม
สุดท้ายเป็น บ่อน้ำโบราณ มีมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระธรรมกิตติ และเคยใช้น้ำในบ่อน้ำแห่งนี้สรงพระธาตุ ในงานสรงน้ำพระธาตุประจำปี เป็นประจำทุกปี