ยังคงวนเวียนเลียบเคียงกับการเที่ยววัดแถวๆ ถนนคลองชลประทานใน อ. หางดงกันนะครับ และคราวนี้ผมก็จะพามาทำความรู้จักกับวัดศาลา ที่ตั้งอยู่เลขที่ 80 บ้านศาลา หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
วัดนี้มีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ด้วยกัน โดยฝั่งทิศตะวันออกจะจรดกับลำเหมืองแม่ตาช้าง วัดศาลา สร้างเมื่อ พ.ศ.2427 แต่ตามประวัติวัดแจ้งว่า สร้างเมื่อ พ.ศ.2300 ได้มีพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2533 อาคารเสนาสนะประกอบด้วย วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาบาตร หอฉันและโรงครัว
มาดูสิ่งที่น่าสนใจกันบ้าง บริเวณหน้าวัดก่อนเข้าประตู ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปที่ใช้เวลาสร้างได้สำเร็จภายใน 1 วัน กล่าวคือ จะเริ่มพิธีตั้งแต่หลังหกทุ่มเป็นต้นไป จนสามารถสร้างองค์พระได้สำเร็จก่อนพระอาทิตย์ตกดิน (ก่อนเวลา 18.00 น.) ของวันถัดไป ถ้าสร้างไม่เสร็จถือเป็นพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้ในเย็นอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปนั้น มักจะมีขั้นตอน และพิธีกรรมที่ละเอียดซับซ้อน การสร้างพระพุทธรูป และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้สำเร็จภายใน 1 วัน จึงถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ จึงเชื่อกันว่าเป็นเพราะพระพุทธานุภาพ และอานุภาพแห่งเทพยดาที่บันดาลให้พิธีกรรมสำเร็จโดยปราศจากอุปสรรค ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือว่าพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่จะบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้อธิษฐานขอพรได้อย่างทันอกทันใจ
การสร้างพระเจ้าทันใจนั้น มีลักษณะที่แปลกกว่าการสร้างพระพุทธรูปอื่นๆ กล่าวคือจะมีการบรรจุหัวใจพระเจ้า คล้ายกับหัวใจของมนุษย์ ตลอดจนการบรรจุวัตถุมงคลสิ่งของมีค่าไว้ในองค์พระพุทธรูปด้วย และในช่วงระยะเวลาที่กำลังปั้น จะต้องมีการเจริญพระพุทธมนต์ของพระสงฆ์ตลอดทั้งคืนจนสว่างด้วย
เขยิบเข้ามาด้านในวัด ตรงประตูมีสิงห์ล้านนาอยู่สองตัว ตามความเชื่อล้านนาที่มักจะสร้างรูปปั้นสิงห์ไว้ตรงประตูวัด จากในเข้ามาด้านในเป็นส่วนของพระวิหาร เป็นวิหารรูปแบบล้านนา ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือฉลุลายปิดทองบริเวณผนังด้านหลังของพระประธาน ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้)
สุดท้ายบริเวณด้านหลัง เป็นเจดีย์แบบล้านนา ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม