ถ้าไม่เกรงใจกัน ผมคงต้องบอกว่าแรกๆ แทบจะไม่รู้มาก่อนเลยว่านี่คือ วัดอินทขีลสะดือเมือง
ด้วยความที่ช่วงแรกๆมาอาศัยอยู่เชียงใหม่ เวลาขับรถผ่านไปผ่านมาแถวนั้น สิ่งก่อสร้างอย่างอื่น มักจะดึงดูสายตาผมไปจากวัดแห่งนี้เป็นประจำ หอศิลปวัฒนธรรมเอย ไหนจะอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ไหนจะร้านกับข้าวแถวนั้นอันแสนอร่อย ไหนจะถนนคนเดินวันอาทิตย์ ที่แถวนั้นจะพลุกพล่านไปด้วยผู้คนกันเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจหรอก ถ้าใครคนนึงอย่างผมจะมองข้าม
จนแล้วจนรอดไปๆ มาๆ สุดท้ายก็ได้มารู้ความจริง หลังจากตัวเองสังเกตอย่างถี่ถ้วน แล้วพบว่าที่ตรงนั้นมันคือ วัดอินทขีลสะดือเมือง กันนะเฟ้ย
วัดสะดือเมือง เป็นวัดโบราณที่ตั้งอยู่ใกล้กับ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (ศาลากลางหลังเก่า) และอนุสาวรีย์สามกษัตริย์กันครับ ใครไปเที่ยวถนนคนเดินวันอาทิตย์น่าจะรู้ดี วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพญามังราย เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเสาอินทขิล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) ซึ่งตามตำนานพื้นเมืองเหนือ กล่าวถึงพระอินทร์ได้ประทานเสาอินทขิลให้แก่ชาวลัวะเพื่อบูชา เมื่อครั้งก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่
จากนั้นภายหลังได้รกร้างลงในสมัยพม่าเข้าปกครองเมือง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2343 พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ร่วมกับกองทัพพระเจ้าตาก ขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาสำเร็จ และได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้น โดยย้ายเสาอินทขิล มาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง และได้สร้างพระวิหารวัดอินทขีลสะดือเมืองขึ้นใหม่บนฐานเดิม โดยอัญเชิญพระเจ้าอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) มาประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระวิหาร
ศาสนสถานอันสำคัญสำหรับวัดอินทขีลสะดือเมือง ประกอบไปด้วยพระวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง เป็นพระวิหารที่ พระเจ้ากาวิละ ได้สร้างขึ้นเมื่อครั้งบูรณะวัด เมื่อปี พ.ศ.2380 โดยสร้างขึ้นบนฐานเก่า พร้อมกับการสร้างเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมที่หุ้มเจดีย์องค์ใน ภายในพระวิหารประดิษฐาน พระเจ้าอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) เป็นพระประธาน
เจดีย์ทรงระฆังหลังพระวิหาร อยู่บริเวณด้านหลังพระวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นฐานหน้ากระดานสูงใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นฐานทรงกลมสามชั้น รองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตร บัวฝาละมี และปล้องฉไน โดยมีเจดีย์องค์เล็กศิลปะหริภุญชัยอยู่ภายใน
เจดีย์รูปแปดเหลี่ยมตั้งอยู่ภายในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวว่าเป็นบริเวณที่พญามังรายต้องอัสนีบาตสวรรคต ต่อมาพระยาไชยสงคราม ราชโอรส ได้ทรงสร้างเจดีย์นี้ เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิพระราชบิดา โดยเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ศิลปะคล้ายที่พบในวัดจามเทวี เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียง ส่วนบนเป็นฐานหน้ากระดานรูปแปดเหลี่ยม รองรับเรือนธาตุซึ่งมีซุ้มจระนำทั้งแปดด้าน ประดับลายปูนปั้นประณีตงดงาม ส่วนบนเป็นองค์ระฆังที่ยอดได้ทลายลงไป
ส่วนคนที่มาถนนคนเดินเชียงใหม่ในวันอาทิตย์ หากมากันเร็วซักนิดก่อนถนนคนเดินจะเริ่ม การมากราบไหว้สักการะ พร้อมเที่ยวชม วัดอินทขีลสะดือเมือง ถือเป็นอีกหนึ่งทริปที่น่าสนใจครับ