วัดอุปคุต

C360_2013-09-18-14-04-02-578

ด้วยสภาพการจราจรแถวถนนท่าแพเข้าขั้นพลุกพล่าน ไม่ว่าจะยามไหน (อาจจะปลอดบ้างเป็นบางครั้ง เวลาตำรวจไปตั้งด่าน อิอิ) โอกาสที่จะแวะเข้าไปชมวัดอุปคุต ก็เลยค่อนข้างจะหายากกันซักนิดนึง

เหตุผลข้างต้น แม้จะฟังดูไม่เข้าท่า แต่ก็อย่างว่า จะเอาอะไรกับคนขี้เกียจ  ฮ่าๆๆ

C360_2013-09-18-14-02-58-002

เข้าเรื่องกันเลย วัดอุปคุตแห่งนี้ มีความสำคัญอันเกี่ยวโยงกับตำนานของพระอุปคุตครับ โดยเรื่องของเรื่องมันมีตำนานเชื่อว่าวันเป็งปุ๊ด เป็นวันที่ “พระอุปคุต” หรือ “พระบัวเข็ม” ผู้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ และฤทธิ์เดชเกรียงไกร มีชื่อเสียงในการปราบพญามารและกำจัดสิ่งชั่วร้าย เป็นพระเถระสำคัญในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จะละบำเพ็ญฌานจากใต้ท้องสมุทร เพื่อมาโปรดสัตว์โลก โดยจะปลอมตัวเป็นเณรน้อยออกบิณฑบาตในยามเที่ยงคืน หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรกับพระอุปคุตแล้วเชื่อว่าจะได้รับบุญมาก ร่ำรวย เป็นสิริมงคล และได้รับความคุ้มครองจากพระอุปคุต จึงทำให้ชาวล้านนาเตรียมจัดเตรียมอาหารและออกมาใส่บาตรกันในยามค่ำคืนเป็น จำนวนมาก

C360_2013-09-18-14-10-05-943

และด้วยความสำคัญเยี่ยงนี้ วัดอุปคุตที่เป็นเพียงวัดหนึ่งเดียวในดินแดนล้านนา ที่สืบสานประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาไม่ต่ำกว่า 250 ปี ก็จะมีการจัดงานใหญ่ขึ้น โดยพระสงฆ์จะประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในวิหารหลวงตั้งแต่เวลา 22:00 น. ก่อนขบวนพระสงฆ์และสามเณรจะออกบิณฑบาตหลังเวลาล่วงเข้าเที่ยงคืนวันเพ็ญ

C360_2013-09-18-14-09-46-055

ทั้งนี้ ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนในวัน “เป็งปุ๊ด” หรือ “เพ็ญวันพุธ” เป็นการตักบาตรยามเที่ยงคืนในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ โดยในแต่ละปีอาจจะมีเพียงครั้งเดียว มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือไม่มีเลยก็เป็นได้ ส่วนใหญ่ประเพณีดังกล่าว จะพบมากในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในเชียงใหม่ และเชียงราย เนื่องจากได้รับเอาอิทธิพลจากพม่ามาเมื่อครั้งอาณาจักรล้านนาตกเป็นเมือง ขึ้นของพม่า

C360_2013-09-18-14-15-18-920

C360_2013-09-18-14-12-51-026

สำหรับศาสนสถานภายในนะครับ เด่นๆ เลย จะมีวิหารประดิษฐานพระอุปคุตซึ่งเป็นพระประธาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเหนือ วาดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพ่อบุญปั๋ง พงษ์ประดิษฐ์ ศิลปินล้านนา

C360_2013-09-18-14-11-31-674

C360_2013-09-18-14-05-43-679

อีกที่หนึ่งเป็นหอเก็บพระพุทธรูปทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูงมีลายปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบผนังด้านนอก ทวารบาลเป็นยักษ์ปูนปั้น บานประตูลงรักปิดทอง และส่วนด้านหลังพระวิหารก็จะมีพระอุโบสถ และองค์เจดีย์ให้ได้ชมความงดงามกัน

C360_2013-09-18-14-16-17-041

C360_2013-09-18-14-07-22-035

เอาล่ะ ใครยังไม่เคยมาเที่ยวกัน ก็มากันซะ ส่วนประเพณี “เป็งปุ๊ด” ปีนี้ ก็ผ่านไปแล้วเรียบร้อยในวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งใครพลาดครั้งนี้ ก็เอาไว้โอกาสหน้าฟ้าใหม่ ค่อยมาตักบาตรเที่ยงคืนกันในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ครับผม