ให้หลังจากไปเที่ยววัดปางไฮ ใน อ แม่ริม มาผมก็มุ่งหน้าพาตัวเองมายังวัดโป่งปะ ต.สะเมิงเหนือ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่อยู่ห่างจากต้นทางที่ตัวเองมาไม่ไกลนัก
วัดโป่งปะ เป็นวัดเล็กๆ ในชุมชน วางตัวอยู่ตรงเนินเขาของหมู่บ้าน ภายในแม้ตะเป็นวัดขนาดเล็ก แต่มีพื้นที่กว้างขวาง สิ่งสำคัยภายในวัดมี พระวิหารรูปทรงล้านนา บิรเวรด้านหน้าตรงบันไดนาค เป็นบันไดนาคลักษณะของมกรคายนาค ซึ่งมักจะพบมากในวัดทางภาคเหนือ ซึ่งถ้าใครไปวัดบ่อยจะสังเกตเห็นได้ตามบันไดของวิหาร
สำหรับ ตัว “มกร” นี้เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการครับ นัยว่า เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายกับพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาค ออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด
ในความเป็นจริงแล้ว “มกร” มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณว่า “เหรา” อ่านว่า เห-รา เป็นสัตว์ในจินตนาการ มีหน้าที่เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระธาตุ โบสถ์ วิหาร ที่สื่อว่าเป็นเขาพระสุเมรุ ตามคติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ ดังนั้น จึงต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์เฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์ส่วนคำว่า “มกร” นั้น เข้าใจว่าคงได้รับอิทธิพลมาจาก “มังกร” ของจีน เพราะเคยเห็นแต่พญานาคที่ไม่มีขา พอมาเห็นตัวที่มีหัวเป็นพญานาคหรือสำรอกพญานาค และมีขาด้วยก็เลยเรียกตามจีนไป
ส่วนที่ มกรต้องคายนาคนั้น ในลักษณะของการสำรอก วิเคราะห์ได้ในแง่ของประวัติศาสตร์ศิลปะคือ “พญานาค” จะเป็นตัวแทนของกลุ่มเมือง หรือชนเผ่าทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่เรียกสืบทอดมาถึงปัจจุบันว่า “โยนก” เมืองโยนกเชียงแสนเดิมของพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร ต้นตระกูลของพระเจ้าพรหมมหาราช ก็มีตำนานเกี่ยวพันกับพญานาค เรียกว่ามีพญานาคมาสร้างเมืองชื่อโยนกนาคพันธ์สิงหนวัติ หรือโยนกนาคนคร และเมื่อเมืองนี้ล่มจมหายก็เพราะผู้คนพากันกินปลาไหลเผือก ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพญานาคนั่นเอง ส่วนสัตว์น่ากลัวเช่น “จระเข้ เหรา” จะเป็นตัวแทนของพวก “พยู” หรือพุกามอันได้แก่พม่า การที่พบศิลปะแบบมกรคายนาคในแถบภาคเหนือ พอจะอนุมานได้ว่า เป็นการแสดงออกถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลของงานศิลปะและการเมืองของพุกามหรือพม่าที่ครอบงำล้านนาอยู่ถึง 200 ปีนั่นเอง
ส่งท้ายด้วยลักษณะของวิหารกันครับ เป็นวิหารรูปแบบล้านนา วิหารปิด ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้)