วัดพระธาตุดอยถ้ำ

DSCF1553

วัดพระธาตุดอยถ้ำ จัดเป็นอีกหนึ่งวัดที่น่าสนใจใน อ. หางดงหากใครนึกอยากจะมาเที่ยว และไหว้พระทำบุญกันที่วัดแห่งนี้

วัดพระธาตุดอยถ้ำ ตั้งอยู่ใน บ้านดอยถ้ำ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ จากประวัติความเป็นมา เล่าว่าประมาณ พ.ศ. 2170 มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า บ้านดอยถ้ำ ช่วงเวลานั้นยังไม่มีวัดและองค์พระธาตุ ยังเป็นป่าดงดิบและมีพันธ์ไม้นานาพันธุ์ขึ้นเต็มดอย จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ พวกเด็กๆ ชอบมาเที่ยวเล่นซ่อนหากันเสมอ ประกอบกับสถานที่แห่งนี้เป็นที่สวยงามและร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ

DSCF1564

จากนั้นมีตำนานเล่าขานจากผู้แก่ผู้เฒ่าทุกรุ่นตลอดมาว่า พระธาตุดอยถ้ำเริ่มสร้างขึ้นในสมัยท่านขุนเวียงด้งซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนา นำกองทหารมาตั้งค่ายอยู่ไม่ไกลจากดอยถ้ำนี้มากนัก ขุนเวียงด้งท่านมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ นางจันทน์หอม ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ พี่เลี้ยงของนางชอบพานางมาเที่ยวบนดอยถ้ำอยู่เสมอ อยู่มาวันหนึ่งจะด้วยถึงคราวเคราะห์ร้ายของนางหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ นางได้หายตัวไป ขุนเวียงด้งผู้เป็นพ่อได้พยายามให้ทหารและชาวบ้านช่วยกันตามหานางแต่ไม่พบ แต่ได้พบรอยงูใหญ่ที่เลื้อยเข้าปากถ้ำ ถ้ำนี้จึงได้เรียกกันว่า ถ้ำงูลืน แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ เนื่องจากปากถ้ำไม่กว้างนัก จะเข้าได้ก็เฉพาะงูเท่านั้น

DSCF1558

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านขุนเวียงด้งจึงไม่มีใครสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ เมื่อผ่านเลยไปครบ 3 วัน ท่านขุนเวียงด้งจึงให้สร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกลูกสาวของท่าน นับตั้งแต่นั้นมาจวบจนทุกวันนี้ได้มีประชาชนทั่วไปได้มากราบไหว้บูชาพระธาตุเป็นประจำ จึงเกิดมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุแห่งนี้ทุกครั้งใน กลางเดือน 7 (เดือน 9 ภาคเหนือ) ของทุกปี

DSCF1559

DSCF1562

DSCF1549

นอกจากพระธาตุเจดีย์แล้ว ศาสนสถานภายในวัดอื่นๆ ที่น่าสนใจก็ยังมี พระวิหารรูปทรงล้านนา ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) ภายในประดิษฐานพระแก้วมรกต พระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน