วัดละโว้

DSCF1412

ในช่วงที่เมืองหริภุญชัยเจริญรุ่งเรือง ทั้งในตัวเมืองและรอบๆ นอกมีการสร้างวัดหลายแห่งอยู่ด้วยกันที่สำคัญๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีวัดละโว้ ที่วางตัวอยู่ใน ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

วัดละโว้ ถูกสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2115 ยุคปลายสมัยพระแม่เจ้าจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญชัย (ลำพูน) โดยก่อนหน้านั้นหลายปี ครั้งที่พระแม่เจ้าจามเทวีได้รับอัญเชิญให้เสด็จไปครองเมืองหริภุญชัย ระหว่างที่พระแม่ฯ เสด็จจากเวียงละโว้ (ลพบุรี) ก็ได้มีเหล่าเสนาอำมาตย์ ข้าทาสบริวาร ติดตามรับใช้พระแม่ฯ มาจำนวนไม่น้อย โดยมีพระพุทธรูปทองคำสัมฤทธิ์ (ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารวัดละโว้) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์จากกรุงละโว้ (ตามคำบอกเล่า) เข้าสู่นครหริภุญชัย ซึ่งพระแม่ฯ จะได้นำไปประดิษฐานไว้บนยอดดอยคำ (ปัจจุบันคือวัดพระธาตุดอยคำ) แต่ในระหว่างเดินทางนั้นได้ผ่านหลายหมู่บ้าน มาตามทุ่งนาต่างๆ เป็นที่ลำบากอย่างยิ่ง จนกระทั่งการชักลากพระพุทธรูปมาถึงบริเวณระหว่างทาง เชือกที่ผูกมัดที่ประทับ (ชาวบ้านเรียกว่าปวน) ได้ขาดลง จึงทำให้ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ต้องหยุดพัก ณ บริเวณระหว่างทุ่งนานั้น เพื่อทำการซ่อมแซมให้คงทนและแข็งแรง จุดที่หยุดพักนั้นปัจจุบันเรียกว่า “บ้านยั้งปวน” หรือ “วัดมงคลเกษม” ในปัจจุบัน

หลังจากนั้นขบวนชักลากพระพุทธรูปก็ได้เคลื่อนต่อไป จนกระทั่งมาถึงบริเวณที่มีหนองน้ำเล็กๆ ล้วนมีแต่โคลนอยู่เต็ม ประกอบกับบริเวณนั้นเป็นป่ารกไปด้วยต้นไม้และเครือเถาวัลย์ต่างๆ และเป็นที่อาศัยของวัว ควาย ไว้เป็นที่นอนในหนองน้ำแห่งนี้ ปรากฏว่าแท่นประทับพระพุทธรูปได้จมลงไปในหนองน้ำนั้น จึงไม่สามารถที่จะชักลากพระพุทธรูปไปให้ถึงบนยอดดอยคำได้ พระแม่เจ้าจามเทวีจึงได้ตรัสสั่งให้พวกเสนาอำมาตย์ตลอดจนถึงบริวารที่ ติดตาม ได้ช่วยกันก่อฐานและองค์พระพุทธรูปไว้ ณ จุดนั้น โดยพระแม่เจ้าฯ ทรงคิดว่าพระพุทธรูปคงพึงพอใจที่จะประดิษฐาน ณ ที่ตรงนี้ ครั้นต่อมาพระแม่เจ้าฯ จึงมีรับสั่งให้เสนาอำมาตย์และบริวารที่ติดตามมาให้ช่วยกันปลูกสร้างบ้าน เมืองขึ้นมา ณ สถานที่นั้นจึงได้เรียกว่า “เวียงละโว้” หรือ “วัดละโว้” ในปัจจุบัน

DSCF1408

สำหรับสิ่งที่น่าสนใจในวัดละโว้มีพระบรมธาตุเวียงละโว้ โดยเจ้าหญิงประกายแก้ว (พระชายาพระเจ้าอนันตยศ) ได้ทรงดำริสร้างพระบรมธาตุขึ้น เมื่อวันขึ้น 5 ค่ำ (ใต้) พ.ศ.1225 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 เดือนเศษ ผู้ที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการก่อสร้างคือ พระนางเกษวดี (พระพี่เลี้ยง) ต่อมาทางวัดได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2535 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2538 ต่อมามีการฉลองสมโภชในปี พ.ศ. 2539

DSCF1412

วิหารลวดลายศิลปะแบบล้านนา สร้างปี พ.ศ. 2485 ได้รับการบูรณะมาแล้ว 3 ครั้ง ด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและพระเจ้าสิบชาติ พระประธานเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ มีชื่อว่า “พระพุทธมิ่งมงคล” อันมีตำนานเล่าว่า เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ของพระแม่เจ้าจามเทวี

DSCF1418

ศาลาที่ประทับพระนางจามเทวี ที่สร้างขึ้นพร้อมกับการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ในปี พ.ศ. 2539 ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างแบ่งเป็น 2 ห้อง คือ ห้องประดิษฐานรูปเหมือนของพระนางจามเทวีและพระพี่เลี้ยงทั้งสอง คือ พระนางเกษวดีและพระนางปทุมวดี ส่วนชั้นบนใช้เป็นหอเก็บพระธรรมและหอระฆัง

DSCF1415

สุดท้ายเป็น อุโบสถ เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2547 สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2552 รูปแบบทรงศิลปะไทยล้านนาประยุกต์ (นำแบบมาจากวิหารจามเทวี วัดปงยางครก จ.ลำปาง)