ตลาดนวรัฐ (กาดเจ็กโอ๊ว)

DSCF7098

ต้องบอกเลยว่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง คือศูนย์กลางธุรกิจในด้านการค้าขาย เนื่องจากย่านนี้มีสามตลาดใหญ่ด้วยกัน คือ ตลาดวโรรส (กาดหลวง) ตลาดต้นลำไย (กาดต้นลำไย) และ ตลาดนวรัฐ (กาดเจ็กโอ๊ว) วางตัวอยู่ โดยกาดทั้งสามตั้งขึ้นในช่วงที่การค้าทางเรือระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ มีความเจริญเติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้จากสามกาดที่ว่ามา ผมมีโอกาสเขียนถึงไปแล้วสองกาดด้วยกัน คือ ตลาดวโรรส (กาดหลวง) และ ตลาดต้นลำไย (กาดต้นลำไย) มาครานี้ยังเหลืออีกหนึ่งกาดให้ได้กล่าวถึง ซึ่งก็คือ ตลาดนวรัฐ (กาดเจ็กโอ๊ว) ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือตรงข้ามกาดหลวงทางฝั่งถนนช้างม่อย

DSCF7111

กาดเจ๊กโอ้ว หรือตลาดนวรัฐ ตั้งขึ้นตามชื่อของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงองค์ที่ 9 ทั้งนี้เพราะตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ ในปีพ.ศ. 2488 เถ้าแก่โอ้ว (นายชู โอสถาพันธุ์) ได้ซื้อคุ้มหลังนี้ และอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ ในปี พ.ศ. 2500 ได้รื้อคุ้มออกและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นตลาด เพราะเห็นว่าบริเวณนี้อยู่ติดกับแม่น้ำปิง มีผู้คนสัญจรไปมามาก ประกอบกับตัวคุ้มเองก็ชำรุดเสื่อมโทรมลงมากแล้ว

DSCF7105

ทั้งนี้ ในช่วงแรกๆ ที่ตั้งกาดทั้งสามยังพื้นที่ยังเป็นลานโล่งๆ จากนั้นเมื่อมีคนเข้ามาค้าขายมากขึ้น จึงมีการสร้างอาคารร้านค้าถาวรเรียงรายอยู่บนสองฝั่งถนน เป็นอาคารไม้บ้าง ตึกบ้าง

DSCF7100

ไหนๆ พูดรวมถึงกาดอื่นแล้วที่เกี่ยวข้องกับกาดเจ๊กโอ้ว ก็เลยอยากเล่าเพิ่มล่ะกัน ในความน่าสนใจของกาดทั้งสามนี้กล่าวคือ การทำมาหากินร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างชุมชนต่างเชื้อชาติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือชาวจีน ชาวพื้นเมือง และชาวซิกข์ ชาวจีนและชาวพื้นเมืองขายของจิปาถะทั้งของกินและของใช้อยู่ในตลาด ส่วนชาวซิกข์ ที่เรียกว่านายห้าง ขายผ้าเมตรจากโรงงาน ตั้งร้านอยู่รอบนอกตลาดจากตรอกเล่าโจ๊วอ้อมไปทางถนนช้างม่อยทั้งสองฝั่ง ชาวซิกข์กลุ่มนี้ย้ายมาจากแคว้นปัญจาบ ทางตอนเหนือของอินเดีย นับถือศาสนาซิกข์ ส่วนหนึ่งเป็นนิกายนามธารี ศูนย์กลางของชาวซิกข์กลุ่มนี้อยู่ที่วัดนามธารี บนถนนช้างม่อยตัดใหม่ใกล้ๆ กับกาดหลวงนี้เอง

DSCF7104

DSCF7101

แม้ว่ากาดทั้งสามนี้จะตั้งอยู่ใกล้กัน แต่มิได้แย่งลูกค้ากัน เพราะแต่ละตลาดเจาะลูกค้าคนละกลุ่ม อย่างกาดหลวงเป็นศูนย์กลางของผ้านานาชนิด ทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผ้าเมตร รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางสินค้าของฝาก ตั้งแต่เสื้อผ้าพื้นเมือง พืชผักนานาชนิด และของกินพื้นเมือง กาดเจ๊กโอ้ว เป็นศูนย์กลางของสินค้าจากโรงงานทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่วนกาดต้นลำไย เป็นศูนย์กลางของพืชผลทางการเกษตร ทั้งพืชผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ เป็นต้น

DSCF7106

ในส่วนของกาดเจ๊กโอ้วนั้น ปัจจุบันนี้แม้ว่าจะมีผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยไม่มากเท่ากับกาดหลวง และกาดต้นลำไย แต่ลึกๆ ภายในแล้ว กาดแห่งนี้ก็ถือว่ายังมีความสำคัญอยู่ ในฐานะศูนย์กลางของสินค้าจากโรงงานทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคของเมืองเชียงใหม่กันครับกระผม