วัดบวกครกหลวง

DSCF7335

วัดบวกครกหลวงจัดว่าเป็นวัดที่มีความน่าสนใจในเชิงของการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากวัดแห่งนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังให้ได้เยี่ยมชม แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น หันมาดูข้อมูลรายละเอียดอันอื่นก่อน เพื่อเป็นการปูทาง

วัดบวกครกหลวงตั้งอยู่ที่ 24 บ้านบวกครกหลวง ถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง หมู่ที่ 1วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด โดยแต่เดิมนั้นชื่อ วัดม่วงคำ ส่วนชื่อว่า บวกครกหลวง นี้เป็นภาษาพื้นเมือง คำว่า บวกครก แปลว่า หลุม และคำว่า หลวง แปลว่า ใหญ่

อย่างที่เกริ่นไปแต่ต้น ไฮไลต์ของวัดบวกครกหลวง ที่ทุกคนต้องมาสัมผัส คือภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดบวกครกหลวง ซึ่งเขียนเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกในนิบาตหรือ เรื่องทศชาติชาดก จำนวน 14 ห้อง จิตรกรรมฝาผนังนี้เขียนบนผนังรอบ ๆ วิหารระหว่างช่องเสาเป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดก ภาพแต่ละส่วนจะอยู่ในกรอบซึ่งเขียนเป็นลายล้อมกรอบด้วยลายสีน้ำเงิน แดง และขาว

DSCF7336

DSCF7333

สำหรับเรื่องที่เขียนนั้นทางทิศเหนือเป็นภาพชาดก เรื่องมโหสถชาดก ส่วนทางทิศใต้เป็นเรื่องทศชาติชาดก (พระเจ้าสิบชาติ) จิตรกรรมดังกล่าวเป็นฝีมือช่างชาวไทใหญ่ที่ละเอียดประณีต และเป็นที่น่าสังเกตว่าจิตรกรรมฝาผนังในล้านนาจะไม่พบการเขียนภาพเรื่องทศชาติชาดกครบทั้ง 10 ชาติ หากเลือกมาเฉพาะเรื่องที่นิยมกันเท่านั้น ซึ่งที่วัดบวกครกหลวงก็เช่นกัน มีทั้งหมด 6 เรื่อง คือ เตมียชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก และเวสสันดรชาดก

DSCF7331

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง มีลักษณะของภาพแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิยมของท้องถิ่น ที่มีจุดเด่นที่เป็นภาพเขียนที่ใช้สีสันสดจัดจ้าน ท่าทีการเขียนภาพของช่างนิยมใช้พู่กันป้ายแต้มอย่างมีพละกำลังแฝงอยู่ภายในด้วย รอยพู่กันแสดงอารมณ์ที่ลิงโลด คึกคะนอง สนุกสนาน และปาดสีอย่างมันใจเด็ดเดี่ยว สีสันมีชีวิตชีวา ไม่ดูจืดชืด

DSCF7335

DSCF7330

ส่วนลักษณะของวิหารนั้น เป็นอาคารโถงเช่นเดียวกับอาคารล้านนาทั่วไป ซึ่งสถาปัตยกรรมล้านนาส่วนใหญ่จะเน้นให้เห็นโครงสร้างของไม้และเครื่องบนหลังคาใช้เสาในการรับน้ำหนักของหลังคาทั้งหมด โดยเฉพาะโครงสร้างไม้แบบม้าตั่งไหมซึ่งเป็นการสร้างตามคติดั้งเดิมอันเป็นลักษณะเฉพาะของล้านนา จึงจะเห็นว่าภายใจวิหารวัดบวกครกหลวงนี้จะมีเสาขนาดใหญ่อยู่กลางวิหารถึง 12 ต้น ภายหลังจึงได้มีการทำผนังทึบขึ้นมา 3 ด้านคือ ด้านข้างและด้านหลัง แต่มิได้เป็นการรับน้ำหนักอาคาร ส่วนด้านหน้าเปิดโล่งไว้ และต่อมาได้มีการสร้างประตูบานใหญ่ขึ้นด้านหน้าเพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย ประตูนี้มีการแกะสลักเป็นรูปทวารบาลปิดทองอย่างงดงาม

DSCF7338

DSCF7334

หลังคาวิหารเป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประดับด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าและหางหงส์ เป็นรูปนาคตามคติชาวล้านนาที่เชื่อว่า วิหารเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ต้องมีนาคคอยดูแลอยู่ จึงมีการประดับตกแต่งวารด้วยนาค ส่วนลานทรายที่อยู่รายรอบวิหารหรือศาสนสถานอื่น ๆ ของล้านนาเปรียบเสมือนว่าเป็นน้ำหรือนทีสมุทร ดังนั้นจะเห็นว่า ทางเข้าด้านหน้าวิหารทำเป็นราวบันไดรูปมกรคายนาคด้วยและนาคที่นี่ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวคือ เป็นนาคปากนกแก้วซึ่งมีเพียงแห่งเดียว ส่วนมุขโถงด้านหน้าวิหารเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยที่มีการบูรณะ

DSCF7342

หน้าบันวิหารเป็นหน้าบันสลักไม้แบ่งเป็นช่องแบบฝาปะกน แต่ละช่องแกะลายประดับกระจกสวยงาม และมีจารึกบอกปี พ.ศ. 2468 สันนิฐานว่าเป็นปีที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ผนังด้านนอกของตัวอาคารจะมีปูนปั้นรูปเทพพนมประดับอยู่ตามมุม ด้านบนเป็นคันทวยลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ทำด้วยไม้ มีอยู่ 2 ลายคือ คันทวยด้านหน้าทั้งสองข้างทำเป็นรูปหนุมานเหยียบเมฆ ส่วนในตำแหน่งอื่น ๆ จะเป็นลายเมฆไหลท่านั้น

นอกจากวิหารแล้วที่วัดบวกครกหลวงแห่งนี้ยังมีอาคารเสนาสนะอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ อุโบสถที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา ศาลาบำเพ็ญกุศล กุฎีสงฆ์ และเจดีย์ทรงปราสาทมีเรือนธาตุ 4 ด้าน บุด้วยทองจังโกซึ่งอยู่ด้านหน้าวิหารด้วย

โดยรวมแล้วต้องบอกว่าวัดแห่งนี้ มีความสวยงามในด้านของจิตรกรรม และสถาปัตยกรรมกันเป็นอย่างยิ่ง และแน่นอนเหลือเกินว่าวัดบวกครกหลวง ถือเป็นอีกหนึ่งวัดในเชียงใหม่ที่ใครๆ ก็ไม่ควรพลาดในการแวะมาเยี่ยมชมกันครับ